เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
[695] ฤๅษีเกล้าชฎา นามว่ากัณหสิริ
ได้เห็นพระกุมารงามดุจแท่งทองบนผ้ากัมพลแดง
และเศวตฉัตรที่กั้นอยู่บนพระเศียร
ก็มีจิตเบิกบาน ดีใจพลางช้อนอุ้มพระกุมารไว้แนบกาย
[696] พออุ้มพระกุมารผู้ประเสริฐไว้แล้ว
อสิตฤๅษีผู้เรียนจบลักษณะมนตร์
ก็ตรวจพิจารณาลักษณะ
มีจิตเลื่อมใส ได้เปล่งวาจาว่า
พระกุมารนี้ไม่มีผู้อื่นเยี่ยมกว่า
เป็นผู้สุงสุดในบรรดาสัตว์ 2 เท้า
[697] ครั้นแล้ว อสิตฤๅษีหวนระลึกถึงการที่ตนต้องไปเกิด
ก็ระทมใจจนน้ำตาไหล
ซึ่งเจ้าศากยะทั้งหลายได้ทอดพระเนตรเห็นฤๅษีร้องไห้เช่นนั้น
จึงตรัสถามว่า พระกุมารจะมีอันตรายหรืออย่างไร
[698] อสิตฤๅษีได้ทูลเจ้าศากยะทั้งหลาย
ผู้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ไม่ทรงสบายพระทัยว่า
ไม่ใช่อาตมภาพระลึกถึงสิ่งที่เป็นอัปปมงคลในพระกุมาร
และก็ไม่ใช่พระกุมารนั้นจะทรงมีอันตราย
พระกุมารนี้ไม่เป็นผู้ต่ำต้อยเลย
ขอมหาบพิตรทั้งหลายจงสบายพระทัยเถิด
[699] พระกุมารนี้จะทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
จะทรงเห็นนิพพานที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง
จะทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน
จักประกาศธรรมจักร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :665 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [3. มหาวรรค] 11. นาลกสูตร
พรหมจรรย์1ของพระกุมารนี้
จะเผยแผ่ขจรไปอย่างกว้างขวาง
[700] แต่อายุของอาตมภาพเหลืออยู่ในโลกนี้ไม่นาน
อาตมภาพจะต้องมรณภาพไปในระหว่างนี้
อาตมภาพนั้นจะไม่ได้สดับธรรมของพระกุมาร
ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้
เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงเร่าร้อนถึงความพินาศ ทุกข์ใจ
[701] อสิตฤๅษีนั้นทูลให้เจ้าศากยะทั้งหลาย
เกิดความปีติเป็นล้นพ้นแล้ว
จึงออกจากพระราชวังไปบำเพ็ญพรหมจรรย์ต่อไป
พร้อมกับอนุเคราะห์หลานของตนเอง
ฝึกให้เขาสมาทานในธรรมของพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้
[702] กล่าวสอนว่า ต่อไปภายหน้า
เจ้าได้ยินเสียงระบือไปว่า พระพุทธเจ้า
พระสิทธัตถราชกุมารนี้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว
กำลังทรงเผยแผ่ทางดำเนินสู่อมตธรรม
เจ้าจงไปทูลสอบถามด้วยตนเองในสำนักของพระองค์
จงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด
[703] นาลกดาบสสั่งสมบุญไว้มาก
ได้รับคำพร่ำสอนจากอสิตฤๅษี
ผู้มีใจเกื้อกูล มีจิตมั่นคง
ซึ่งเป็นผู้เห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่งในอนาคต
จึงเฝ้ารักษาโสตินทรีย์ รอคอยพระชินสีห์อยู่

เชิงอรรถ :
1 พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนา (ขุ.สุ.อ. 2/699/320)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :666 }